Search This Blog

Wednesday, February 1, 2012

มาตรา 112

ปัญหาของมาตรา 112 ก็คือ ...

1.มันมาหลังมาตรา 111
2.มันมาก่อนมาตรา 113

ถ้า ...
1. แก้มาตรา 112 มาตรา 112 มันก็จะอยู่ตรงนั้น อยู่ที่เดิมของมันนั่นแหละ แต่เนื้อหาของมันเปลี่ยนไป - เปลี่ยนไปดีหรือไม่ดี? อันนี้ต้องวัดกันด้วยสติปัญญา แต่การ "แก้ได้" หรือ "ไม่ได้แก้" ไม่มีนัยว่าข้อเสนอขอแก้ "ดี" หรือ "ไม่ดี"
2. ไม่แก้ ไม่ทำอะไรกับมาตรา 112 มาตรา 112 มันก็อยู่ตรงนั้น อยู่ที่เดิมของมันนั่นแหละ เนื้อหาต่าง ๆ ก็ยังคงเดิม ผู้ละโมบโลภมากก็จะแวะเวียนมาใช้มันเล่นงานคนอื่นได้เป็นครั้งคราว ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
3. ยกเลิกมาตร 112 อันนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะหากทำเช่นนั้น มาตรา 113 ก็จะถอยร่นลงมาเป็นมาตรา 112 แทน ในระบบนับเลข คิดว่าเราไม่ควรนับข้ามเลขใดเลขหนึ่งไปเพราะอาจทำให้สับสนไม่น้อย ดังนั้นจึงไม่มีทางที่จะยกเลิกมาตรา 112 ได้ อย่ากลัวไปเลย

ปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่ควร/ไม่ควรแก้ แตะ/ห้ามแตะ มาตรา 112
แต่เป็นหาอยู่ที่ผู้สนับสนุนว่าได้ "ใช้สติปัญญาศึกษา" หาความรู้เกี่ยวกับมาตรา 112 แล้วหรือยัง? รู้เหตุผลของฝ่ายเสนอแก้ไขหรือไม่?
ได้ใช้สติปัญญาในการสนับสนุน/คัดค้านแล้วหรือยัง?
หรือเพียงแค่ได้ยินได้ฟังนิด ๆ หน่อย ๆ อารมณ์ก็พลุ่งพล่าน เดือดดาล พาลพาโล
ขับไสไล่ส่งคนคิดต่างว่า "มิใช่ไทย" เช่นตน และต้อง "ไสหัวไปให้พ้น" ประเทศไทยยยยยยยยยย

ปัญหาที่ล้อมรอบเรื่องมาตรา 112 เป็นเรื่องของสติปัญญา ไม่ใช่อารมณ์ ถ้าต้องการปลุกระดมก็ต้องระดมปัญญา ไม่ใช่อารมณ์

2/28/2012

Monday, August 15, 2011

เถาวัลย์

มีเรื่องค้างคาใจมากว่ายี่สิบปี ...ทำไม?
ทำไมเถาวัลย์จึงพันเกี่ยวต้นไม้/ตอไม้/หรือสิ่งยืนต้นในลักษณะ "หมุนทวนเข็มนาฬิกา"
เหมือนเวลาเราเปิดฝาจุกขวด
เหมือนเวลาไขน๊อตคลายออก

ตรงข้าม ...เรา
ปิดขวด เราหมุนฝา "ตามเข็มนาฬิกา"
ขันน๊อต เราหมุนเกลียว "ตามเข็มนาฬิกา"

ตอนเรียนหนังสือ ครูสอนว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์จาก "ซ้ายไปขวา" (ตามเข็มนาฬิกา)
หมุนรอบตัวเองจาก "ขวาไปซ้าย" (ทวนเข็มนาฬิกา)
ทำไม?

ทำไมคนส่วนใหญ่ในโลกถนัด "ข้างขวา"
คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่คนส่วนใหญ่ถนัด "ขวา"
คิดว่าน่าจะมีอะไรซักอย่างทำให้มันเป็นอย่างนั้น

แล้วความคิดก็กลับมาที่เถาวัลย์ ...
ทดลองจับมันพันต้นไม้ใหญ่ "จากซ้ายไปขวา"
พอมันตั้นหลักได้ มันก็ปรับตัวกลับมาพันจาก "ขวาไปซ้าย" ทวนเข็มนาฬิกา
เหมือนเดิม
คิดว่าน่าจะมีอะไรซักอย่างทำให้มันเป็นอย่างนั้น

Wednesday, July 13, 2011

ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท – ขอคิดด้วยคน

นโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทของพรรคเพื่อไทยถือว่าเป็นการนำเสนอที่มีลักษณะ “กล้าหาญ” อย่างยิ่ง และเป็นความกล้าหาญที่จะเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาสในทุกทาง ถึงกระนั้นก็มีเสียงคัดค้านอย่าง “อื้ออึง” จากสมาคมอุตสาหกรรมและบรรดานักอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั้งหลายซึ่งพูดกันทำนองว่า...แบบนี้ธุรกิจต้องเลิกจ้างงานเป็นล้านตำแหน่ง บริษัทปิดตัว ต่างชาติย้ายฐานการผลิต ฯลฯ

ผมเห็นว่าทั้งผู้เสนอและผู้คัดค้านเห็นตรงกันว่าต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพียงแต่ฝ่ายคัดค้าน(โดยภาพรวม)เห็นว่าเป็นการเพิ่มที่มากเกินไปในการปรับคราวเดียว

ผู้เกี่ยวข้องควรต้องศึกษาและหาทาง “ผลักดัน” และ “คัดค้าน” ตามแนวคิดของตนอย่างมีข้อมูลที่เป็นจริง ถกเถียงกันด้วยความปรารถนาดีต่อพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อย มากกว่าจะ “คิดว่า” “เห็นว่า” “รู้สึกว่า” ... วนไปเวียนมาไม่จบสิ้น

ผมมีตัวเลขเพื่อสนับสนุนบรรดานักคิดดังนี้ ...

ก.ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท หมายการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง // สัปดาห์ละ 6 วัน // เดือนละ 24 วัน ดังนั้นจึงมีรายได้เดือนละ 7,200 บาท

ข.ค่าใช้จ่าย – ค่าเดินทางต่อวัน (มอเตอร์ไซค์รับจ้างออกจากซอย 50 บาท ต่อสองแถว 12 บาท หรือต่อรถเมล์ – ถ้าโชคดี – อีกหนึ่งต่อ 16 บาท ) รวมประมาณ 62 – 66 บาท

ค.ค่าอาหารสำหรับตัวเอง – มื้อละ 35 บาท (อย่างต่ำ) รวม 105 บาท
รวมค่าใช้จ่ายต่อวันประมาณ 170 บาท เหลือเงิน 130 บาท/วัน หรือ 3,120 บาท/เดือน ... ต้องไม่ลืมด้วยว่าเวลา 6 วันต่อเดือนซึ่งไม่ได้ทำงาน ไม่มีรายได้ แต่ต้องกินเช่นกัน! ยังไม่ต้องนับสามี/ภรรยากับลูกอีก 1 คน ยังไม่ต้องนับค่าเช่าห้อง แชมพู สบู่ยา สีฟัน เสื้อผ้า และเครื่องบรรเทิงเริงใจบ้างเป็นครั้งคราว

คิดคร่าว ๆ เพียงเท่านี้ก็น่าจะเห็นแล้วว่าถึงแม้จะเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทก็ยังไม่แน่ว่าจะทำให้ชีวิตคนหนึ่งคน “พออยู่ได้” จริงหรือไม่

ประเด็นของผู้เห็นแย้งที่สำคัญคือเป็นการเพิ่มภาระ “ต้นทุน” ซึ่งนั่นเป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้ว เพียงแต่ธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างกันย่อมมีภาระต้นทุนค่าจ้างเพิ่มขึ้นในสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ที่แตกต่างกัน

ธุรกิจบริการรักษาความปลอดภัย

เราเป็นธุรกิจบริการงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งมีค่าจ้างที่ต้องอิงกับค่าจ้างขั้นต่ำ มีต้นทุนในการดำเนินการเกือบทั้งหมดเป็นค่าจ้างแรงงาน หรือประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนของธุรกิจคือค่าจ้างแรงงานทั้งสิ้น! การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทมีผลกระทบในระดับที่ “น่าวิตก” เลยทีเดียว

ปัญหาของเราคือปัญหาของผู้พยายามปฏิบัติตามกฎหมายและมีความปรารถนาดีต่อพนักงานในเวลาเดียวกัน!

ขอเสนอตัวเลขประกอบเพื่อผู้สนใจได้พิจารณา ...

ก.พนักงานรักษาความปลอดภัยต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ดังนั้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อการทำงาน 8 ชั่วโมง จึงกลายเป็น 450 บาทต่อ 12 ชั่วโมง ทำงาน 24 วันต่อเดือนได้รับค่าจ้าง 10,800 บาท (สำหรับตำแหน่งหัวหน้า รปภ อัตราค่าจ้างใหม่ต่อวันไม่น่าจะต่ำกว่า 500 บาท)

ข.งานรักษาความปลอดภัยต้องดำเนินการสัปดาห์ละ 7 วัน ปีละ 365 วัน ดังนั้นจึงมีต้นทุนค่าจ้างดังนี้
-วันทำงาน 365 วัน คูณ 450 หาร 12 เท่ากับต้นทุนค่าจ้าง 13,687.50 บาท
-วันหยุดนักขัติฤกษ์ 13 วัน – ไม่ทำงานจ่าย 300 บาท (8 ชม.) ต้นทุนค่าจ้างเดือนละ 325 บาท
-วันหยุดพักผ่อนประจำปี 6 วัน วันละ 300 บาท (8 ชม.) หรือเดือนละ 150 บาท

รวมต้นทุนค่าจ้างพนักงาน รปภ/เดือน/คน = 14,162.50 บาท (หมายเหตุ – ไม่นับลาป่วย และสวัสดิการที่จัดให้ฟรี เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ-ไฟ รถรับส่ง ไม่นับค่าจ้างทำงานวันหยุดซึ่งจ่าย 2 เท่า และไม่นับเงินสมทบประกันชีวิตและประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น)

ค.รวมต้นทุนค่าจ้างตรงดังที่กล่าวแล้วเข้ากับต้นทุนค่าการบริหารจัดการและกำไร (ถ้าถึง 5 เปอร์เซ็นต์ถือว่าเยี่ยม!)แล้ว บริษัทรักษาความปลอดภัยควรจะเสนอขายในราคาไม่ต่ำกว่า 17,703.13 บาท / รปภ 1 คน / เดือน ... ปัญหาที่เกิดขึ้นคือจะมีลูกค้ากี่คนที่จะตกลงว่าจ้าง รปภ ในอัตรานี้?

ผลกระทบ

ก.สำหรับบริษัทรักษาความปลอดภัยจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันที่จ่ายค่าจ้างและสวัสดิการให้กับพนักงาน รปภ ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด การเพิ่มค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทย่อมไม่กระทบกับธุรกิจของเขามากนัก

ข.ส่วนบริษัทที่มีความพยายามทำให้ถูกกฎหมายกับลูกค้าผู้ว่าจ้างบริการ (ซึ่งเกือบทั้งหมดคือองค์กรธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบระดับหนึ่งในส่วนตนแล้ว) เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง แนวโน้มจึงเป็นไปได้ว่า …
-จะมีบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มมากขึ้น (จากที่มากอยู่แล้ว)
-บริษัทที่ปฏิบัติตามกฎหมายขยายงานไม่ได้และรักษางานที่มีอยู่ไม่ได้ (เนื่องจากต้องปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นและลูกค้าไม่ “ยินดี” จ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้น!)

ค.ตัวเลขจากการสำรวจของหลายฝ่ายในปี 2552 ประมาณการว่ามีพนักงาน รปภ ในธุรกิจทั้งหมดประมาณ 400,000 คน นับว่ามีส่วนช่วยเหลือการขับเคลื่อนสังคมไม่น้อย

ความคาดหวัง

ดังที่กล่าวตั้งแต่ต้นแล้ว เราเป็นธุรกิจที่ดำเนินไปพร้อม ๆ กันกับผู้มีรายได้ขั้นต่ำ จึงมีความปรารถนาดีต่อพนักงานและยินดีหากเขาได้รับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น และจะน่ายินดีมากขึ้นไปอีกหากผู้ว่าจ้างยินดีจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน เราก็หวังว่าฝ่ายรัฐซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายที่ดีเช่นนี้คงจะมีวิธีการและแนวปฏิบัติที่ช่วยประคับประคองให้นโยบายดี ๆ เช่นนี้ดำเนินไปได้ในแบบที่ทุกฝ่าย (หรือส่วนใหญ่) เดินไปข้างหน้าได้ตามสมควร

นโยบายที่ดีย่อมต้องการวิธีการที่ดีด้วย

จารึก จันทร์สม
บริษัท บางกอก ซีเคียวริตี้ แอนด์ อินเวสติเกชั่น จำกัด โทร : 02 397-0270-1

Wednesday, July 6, 2011

วัฒนธรรม "ลาออก" เพื่อ "รับผิดชอบ"

สองประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนี้1.หลังเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กค 54 ที่ผ่านมา ผลปรากฎว่าพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้แก่พรรคเพื่อไทย ... ดังรู้ดีทั่วไปแล้ว แต่ประเด็นที่ผมเห็นว่าน่าสนใจคือหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดง "ความรับผิดชอบ"

มันอะไรกันนักหนาไอ้ "ความรับผิดชอบ" นี่?? ฮึ?

พูดเฉพาะเรื่องเลือกตั้ง ... ถ้าพื้นดินภาคใต้งอกขยายลงไปในทะเลจนทำให้มีประชากรมากกว่านี้สัก 3 เท่า 5 เท่า แล้วโอกาสประชาธิปัตย์จะชนะการเลือกตั้งคงง่ายขึ้นเยอะ ... แล้วมันเป็นไปได้ไหมล่ะในความเป็นจริง?

ถ้าหัวหน้าพรรคต้องลาออกทุกครั้งเพื่อแสดงความรับผิดชอบเพราะแพ้เลือกตั้ง ... มันจะมีคนมากพอมาเป็นหัวหน้าหรือ?

2.คนตายเกือบร้อย บาดเจ็บกว่าสองพัน ... หัวหน้ารัฐบาลไม่ต้องแสดง "ความรับผิดชอบ"? ถ้าไม่ต้อง แล้วใครต้อง?

ขอให้ชัดเจน ... ไม่ใช้เพราะ "ผิด" จึงต้องรับผิดชอบ "ผิด" นั้นต้อง "รับผิด" แต่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน ให้ประชาชนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ... เมื่อเกิดเหตุอย่างที่รู้กันดีแล้ว ผู้เป็นหัวหน้ารัฐบาลเน้นไปที่ ... ยืนยันว่าตนและคณะไม่ผิด ไม่ผิด ไม่ผิด .... ชุดดำผิด ผิด ผิด ผิด ...

มันคนละเรื่อง!

แต่นั่นแหละ เวลากว่า 1 ปีที่เกิดเหตุการณ์ผู้มีจิตใจเป็น "ปกติ" ย่อมเห็นแล้วว่าหัวหน้ารัฐบาลและคณะนอกจากไม่แสดง "ความรับผิดชอบ" ใด ๆ ไม่ "ทำหน้าที่" ใด ๆ ในการแสวงหาความจริง หรือลงโทษผู้ที่อ้างว่า "กระทำผิด" แต่อย่างใด

ป่วยการเปล่าเพื่อเอ๋ย
แม้แต่ "ความรับผิดชอบ" ยังเป็นแบบ 2 มาตรฐานเลย!

Friday, April 1, 2011

The Young Writer




2 April 2011 - JJ is now nearly 10 - his birthday is 11th May which is just a month ahead. This is not a strange thing to become older ... I myself has well passed a half of a century already!

JJ has shown his writing ability ... the first book he wrote is called "สารเหม็นจับโจร"; that was when he was about 5 years old. The second book, called "Don Quickstep" - originally called "Don Quix - Ote". This is the result of his listening and reading of a level-5 world literature book for children ... Don Quixote.

Now he is doing another book called - Old Cat and the Sea ... from Hemingway's Old Man and the Sea.

Hopefully he will enjoy writing books when he grows older!
Good luck young writer!

Wednesday, March 30, 2011

ดินแดน เขตแดน

เขา พวกเขากราดเกรี้ยว ร้องตะโกน โวยวายโหวกเหวก
พวกโน้นรุกล้ำดินแดนของเรา
พวกนั้นยึดครองแผ่นดินบางส่วนของเรา ...
ที่บรรพบุรุษของเราตู้สู้ปกป้องมาด้วยหยาดน้ำตา
เลือดเนื้อ
และชีวิต!

เรา พวกเราไม่เห็นทำอะไร
ไม่ช่วยเหลือยังไม่พอ
ยังเยาะเย้นไยไพ

ฉัน ไม่ใช่เสือสิงห์ กระทิง ช้าง
พวกนั้น "รักและปกป้องเขตและดินแดน"
เพราะไม่ต้องการให้ฝูงอื่นเข้า "แย่ง" "ช่วงชิง" ทรัพย์ของตน
และหมู่ตน

สิงห์ชราตัวหนึ่งถามว่า
ศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด
เขตแดนที่เป็นผืนดินยังมีค่าอยู่อีกหรือ?

มันว่าข้าเห็น "คนอื่น" "เผ่าอื่น" "หมู่อื่น" "ชาติอื่น"
ดาดดื่นอยู่ทุกซอยในกรุงเทพ
หัวเมือง
กรุทั่งในหมู่บ้าน
ข้าเห็นพวกเขา "ตักตวง" "กอบโกย" ทรัพย์ของเราไป
ทุกเมื่อเชื่อวัน ทุกเดือน ทุกปี และตลอดปี
กระทั่งพ่อ แม่ ลูก เมีย-ผัว ก็ถูกกด ถูกข่มเหงคะเนงร้าย
แล้วจะไปสนใจมันทำไม ... ไอ้เขตแดน!

แกยังไม่เข้าใจ ... ไอ้สิงห์แก่เอ๋ย
แกไม่เข้าใจเรื่องรักชาติ
เรื่องพลีชีพ
เรื่องปกป้อง ....
แกไม่เข้าใจ
เหมือน ๆ กับที่หลาย ๆ คนไม่เข้าใจ

Sunday, August 22, 2010

พระสยามเทวาธิราช

หลายคนพูดเรื่อง "พระสยามเทวาธิราช" หลายครั้งในชีวิต วันนี้ (23 สค 2553) คุณเปรมพูดถึงเรื่องนี้อีก หลังจากเคยพูดแบบนี้มาหลายหนว่า "ผมเชื่อว่าพระสยามเทวาธิราชมีจริง ...พระสยามเทวาธิราชช่วยปกป้องคนดีและสาปแช่งคนชั่ว"

มีสิ่งที่น่าสนใจหลายประการะฉะนี้

1. พระสยามเทวาธิราช "เกิด" ตั้งแต่เมื่อไหร่? - ดูจากชื่อ "สยาม" น่าจะมีอายุไม่มากนัก คงเกิดขึ้นที่แผ่นดินตรงนี้ถูกเรียกว่า "สยาม" นั่นแหละ ไม่งั้นคงจะมี "พระอยุธยาเทวาธิราช" หรือ "พระสุโขทัยเทวาธิราช" หรือ ฯลฯ
2. มาตรฐานการวัด "คนดี คนชั่ว" ของพระสยามเทวาธิราชไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร? มีมาตรฐานเดียวหรือสองมาตรฐาน หรือไร้มาตรฐาน ???
3. ดูเหมือนพระสยามเทวาธิราชจะมี "อารมณ์" หรือ "สภาพจิต" คล้ายพวก God ของกรีกและอินเดีย คือมีโกรธ เกลียด รักใคร่ โปรดปราน ... มีสภาพเป็น "มนุษย์เทพ" ที่มีพฤติกรรมและอารมณ์รู้สึกเฉกเช่นมนุษย์ทั่วไป มิได้หวังดีต่อมนุษย์โดยรวมแต่ประการใด หรือมิได้วางตัวเป็น "กลาง" หรือ "เที่ยงธรรม" มีการ "สาปแช่ง" คนที่พระสยามเทวาธิราชเห็นว่า "ชั่ว" ไม่ต่างจากแม่บ้านช่อง 7 สีแต่ประการใด