Search This Blog

Wednesday, July 13, 2011

ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท – ขอคิดด้วยคน

นโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทของพรรคเพื่อไทยถือว่าเป็นการนำเสนอที่มีลักษณะ “กล้าหาญ” อย่างยิ่ง และเป็นความกล้าหาญที่จะเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาสในทุกทาง ถึงกระนั้นก็มีเสียงคัดค้านอย่าง “อื้ออึง” จากสมาคมอุตสาหกรรมและบรรดานักอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั้งหลายซึ่งพูดกันทำนองว่า...แบบนี้ธุรกิจต้องเลิกจ้างงานเป็นล้านตำแหน่ง บริษัทปิดตัว ต่างชาติย้ายฐานการผลิต ฯลฯ

ผมเห็นว่าทั้งผู้เสนอและผู้คัดค้านเห็นตรงกันว่าต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพียงแต่ฝ่ายคัดค้าน(โดยภาพรวม)เห็นว่าเป็นการเพิ่มที่มากเกินไปในการปรับคราวเดียว

ผู้เกี่ยวข้องควรต้องศึกษาและหาทาง “ผลักดัน” และ “คัดค้าน” ตามแนวคิดของตนอย่างมีข้อมูลที่เป็นจริง ถกเถียงกันด้วยความปรารถนาดีต่อพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อย มากกว่าจะ “คิดว่า” “เห็นว่า” “รู้สึกว่า” ... วนไปเวียนมาไม่จบสิ้น

ผมมีตัวเลขเพื่อสนับสนุนบรรดานักคิดดังนี้ ...

ก.ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท หมายการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง // สัปดาห์ละ 6 วัน // เดือนละ 24 วัน ดังนั้นจึงมีรายได้เดือนละ 7,200 บาท

ข.ค่าใช้จ่าย – ค่าเดินทางต่อวัน (มอเตอร์ไซค์รับจ้างออกจากซอย 50 บาท ต่อสองแถว 12 บาท หรือต่อรถเมล์ – ถ้าโชคดี – อีกหนึ่งต่อ 16 บาท ) รวมประมาณ 62 – 66 บาท

ค.ค่าอาหารสำหรับตัวเอง – มื้อละ 35 บาท (อย่างต่ำ) รวม 105 บาท
รวมค่าใช้จ่ายต่อวันประมาณ 170 บาท เหลือเงิน 130 บาท/วัน หรือ 3,120 บาท/เดือน ... ต้องไม่ลืมด้วยว่าเวลา 6 วันต่อเดือนซึ่งไม่ได้ทำงาน ไม่มีรายได้ แต่ต้องกินเช่นกัน! ยังไม่ต้องนับสามี/ภรรยากับลูกอีก 1 คน ยังไม่ต้องนับค่าเช่าห้อง แชมพู สบู่ยา สีฟัน เสื้อผ้า และเครื่องบรรเทิงเริงใจบ้างเป็นครั้งคราว

คิดคร่าว ๆ เพียงเท่านี้ก็น่าจะเห็นแล้วว่าถึงแม้จะเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทก็ยังไม่แน่ว่าจะทำให้ชีวิตคนหนึ่งคน “พออยู่ได้” จริงหรือไม่

ประเด็นของผู้เห็นแย้งที่สำคัญคือเป็นการเพิ่มภาระ “ต้นทุน” ซึ่งนั่นเป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้ว เพียงแต่ธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างกันย่อมมีภาระต้นทุนค่าจ้างเพิ่มขึ้นในสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ที่แตกต่างกัน

ธุรกิจบริการรักษาความปลอดภัย

เราเป็นธุรกิจบริการงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งมีค่าจ้างที่ต้องอิงกับค่าจ้างขั้นต่ำ มีต้นทุนในการดำเนินการเกือบทั้งหมดเป็นค่าจ้างแรงงาน หรือประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนของธุรกิจคือค่าจ้างแรงงานทั้งสิ้น! การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทมีผลกระทบในระดับที่ “น่าวิตก” เลยทีเดียว

ปัญหาของเราคือปัญหาของผู้พยายามปฏิบัติตามกฎหมายและมีความปรารถนาดีต่อพนักงานในเวลาเดียวกัน!

ขอเสนอตัวเลขประกอบเพื่อผู้สนใจได้พิจารณา ...

ก.พนักงานรักษาความปลอดภัยต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ดังนั้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อการทำงาน 8 ชั่วโมง จึงกลายเป็น 450 บาทต่อ 12 ชั่วโมง ทำงาน 24 วันต่อเดือนได้รับค่าจ้าง 10,800 บาท (สำหรับตำแหน่งหัวหน้า รปภ อัตราค่าจ้างใหม่ต่อวันไม่น่าจะต่ำกว่า 500 บาท)

ข.งานรักษาความปลอดภัยต้องดำเนินการสัปดาห์ละ 7 วัน ปีละ 365 วัน ดังนั้นจึงมีต้นทุนค่าจ้างดังนี้
-วันทำงาน 365 วัน คูณ 450 หาร 12 เท่ากับต้นทุนค่าจ้าง 13,687.50 บาท
-วันหยุดนักขัติฤกษ์ 13 วัน – ไม่ทำงานจ่าย 300 บาท (8 ชม.) ต้นทุนค่าจ้างเดือนละ 325 บาท
-วันหยุดพักผ่อนประจำปี 6 วัน วันละ 300 บาท (8 ชม.) หรือเดือนละ 150 บาท

รวมต้นทุนค่าจ้างพนักงาน รปภ/เดือน/คน = 14,162.50 บาท (หมายเหตุ – ไม่นับลาป่วย และสวัสดิการที่จัดให้ฟรี เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ-ไฟ รถรับส่ง ไม่นับค่าจ้างทำงานวันหยุดซึ่งจ่าย 2 เท่า และไม่นับเงินสมทบประกันชีวิตและประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น)

ค.รวมต้นทุนค่าจ้างตรงดังที่กล่าวแล้วเข้ากับต้นทุนค่าการบริหารจัดการและกำไร (ถ้าถึง 5 เปอร์เซ็นต์ถือว่าเยี่ยม!)แล้ว บริษัทรักษาความปลอดภัยควรจะเสนอขายในราคาไม่ต่ำกว่า 17,703.13 บาท / รปภ 1 คน / เดือน ... ปัญหาที่เกิดขึ้นคือจะมีลูกค้ากี่คนที่จะตกลงว่าจ้าง รปภ ในอัตรานี้?

ผลกระทบ

ก.สำหรับบริษัทรักษาความปลอดภัยจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันที่จ่ายค่าจ้างและสวัสดิการให้กับพนักงาน รปภ ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด การเพิ่มค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทย่อมไม่กระทบกับธุรกิจของเขามากนัก

ข.ส่วนบริษัทที่มีความพยายามทำให้ถูกกฎหมายกับลูกค้าผู้ว่าจ้างบริการ (ซึ่งเกือบทั้งหมดคือองค์กรธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบระดับหนึ่งในส่วนตนแล้ว) เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง แนวโน้มจึงเป็นไปได้ว่า …
-จะมีบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มมากขึ้น (จากที่มากอยู่แล้ว)
-บริษัทที่ปฏิบัติตามกฎหมายขยายงานไม่ได้และรักษางานที่มีอยู่ไม่ได้ (เนื่องจากต้องปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นและลูกค้าไม่ “ยินดี” จ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้น!)

ค.ตัวเลขจากการสำรวจของหลายฝ่ายในปี 2552 ประมาณการว่ามีพนักงาน รปภ ในธุรกิจทั้งหมดประมาณ 400,000 คน นับว่ามีส่วนช่วยเหลือการขับเคลื่อนสังคมไม่น้อย

ความคาดหวัง

ดังที่กล่าวตั้งแต่ต้นแล้ว เราเป็นธุรกิจที่ดำเนินไปพร้อม ๆ กันกับผู้มีรายได้ขั้นต่ำ จึงมีความปรารถนาดีต่อพนักงานและยินดีหากเขาได้รับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น และจะน่ายินดีมากขึ้นไปอีกหากผู้ว่าจ้างยินดีจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน เราก็หวังว่าฝ่ายรัฐซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายที่ดีเช่นนี้คงจะมีวิธีการและแนวปฏิบัติที่ช่วยประคับประคองให้นโยบายดี ๆ เช่นนี้ดำเนินไปได้ในแบบที่ทุกฝ่าย (หรือส่วนใหญ่) เดินไปข้างหน้าได้ตามสมควร

นโยบายที่ดีย่อมต้องการวิธีการที่ดีด้วย

จารึก จันทร์สม
บริษัท บางกอก ซีเคียวริตี้ แอนด์ อินเวสติเกชั่น จำกัด โทร : 02 397-0270-1

No comments:

Post a Comment