Search This Blog

Wednesday, July 13, 2011

ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท – ขอคิดด้วยคน

นโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทของพรรคเพื่อไทยถือว่าเป็นการนำเสนอที่มีลักษณะ “กล้าหาญ” อย่างยิ่ง และเป็นความกล้าหาญที่จะเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาสในทุกทาง ถึงกระนั้นก็มีเสียงคัดค้านอย่าง “อื้ออึง” จากสมาคมอุตสาหกรรมและบรรดานักอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั้งหลายซึ่งพูดกันทำนองว่า...แบบนี้ธุรกิจต้องเลิกจ้างงานเป็นล้านตำแหน่ง บริษัทปิดตัว ต่างชาติย้ายฐานการผลิต ฯลฯ

ผมเห็นว่าทั้งผู้เสนอและผู้คัดค้านเห็นตรงกันว่าต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพียงแต่ฝ่ายคัดค้าน(โดยภาพรวม)เห็นว่าเป็นการเพิ่มที่มากเกินไปในการปรับคราวเดียว

ผู้เกี่ยวข้องควรต้องศึกษาและหาทาง “ผลักดัน” และ “คัดค้าน” ตามแนวคิดของตนอย่างมีข้อมูลที่เป็นจริง ถกเถียงกันด้วยความปรารถนาดีต่อพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อย มากกว่าจะ “คิดว่า” “เห็นว่า” “รู้สึกว่า” ... วนไปเวียนมาไม่จบสิ้น

ผมมีตัวเลขเพื่อสนับสนุนบรรดานักคิดดังนี้ ...

ก.ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท หมายการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง // สัปดาห์ละ 6 วัน // เดือนละ 24 วัน ดังนั้นจึงมีรายได้เดือนละ 7,200 บาท

ข.ค่าใช้จ่าย – ค่าเดินทางต่อวัน (มอเตอร์ไซค์รับจ้างออกจากซอย 50 บาท ต่อสองแถว 12 บาท หรือต่อรถเมล์ – ถ้าโชคดี – อีกหนึ่งต่อ 16 บาท ) รวมประมาณ 62 – 66 บาท

ค.ค่าอาหารสำหรับตัวเอง – มื้อละ 35 บาท (อย่างต่ำ) รวม 105 บาท
รวมค่าใช้จ่ายต่อวันประมาณ 170 บาท เหลือเงิน 130 บาท/วัน หรือ 3,120 บาท/เดือน ... ต้องไม่ลืมด้วยว่าเวลา 6 วันต่อเดือนซึ่งไม่ได้ทำงาน ไม่มีรายได้ แต่ต้องกินเช่นกัน! ยังไม่ต้องนับสามี/ภรรยากับลูกอีก 1 คน ยังไม่ต้องนับค่าเช่าห้อง แชมพู สบู่ยา สีฟัน เสื้อผ้า และเครื่องบรรเทิงเริงใจบ้างเป็นครั้งคราว

คิดคร่าว ๆ เพียงเท่านี้ก็น่าจะเห็นแล้วว่าถึงแม้จะเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทก็ยังไม่แน่ว่าจะทำให้ชีวิตคนหนึ่งคน “พออยู่ได้” จริงหรือไม่

ประเด็นของผู้เห็นแย้งที่สำคัญคือเป็นการเพิ่มภาระ “ต้นทุน” ซึ่งนั่นเป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้ว เพียงแต่ธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างกันย่อมมีภาระต้นทุนค่าจ้างเพิ่มขึ้นในสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ที่แตกต่างกัน

ธุรกิจบริการรักษาความปลอดภัย

เราเป็นธุรกิจบริการงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งมีค่าจ้างที่ต้องอิงกับค่าจ้างขั้นต่ำ มีต้นทุนในการดำเนินการเกือบทั้งหมดเป็นค่าจ้างแรงงาน หรือประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนของธุรกิจคือค่าจ้างแรงงานทั้งสิ้น! การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทมีผลกระทบในระดับที่ “น่าวิตก” เลยทีเดียว

ปัญหาของเราคือปัญหาของผู้พยายามปฏิบัติตามกฎหมายและมีความปรารถนาดีต่อพนักงานในเวลาเดียวกัน!

ขอเสนอตัวเลขประกอบเพื่อผู้สนใจได้พิจารณา ...

ก.พนักงานรักษาความปลอดภัยต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ดังนั้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อการทำงาน 8 ชั่วโมง จึงกลายเป็น 450 บาทต่อ 12 ชั่วโมง ทำงาน 24 วันต่อเดือนได้รับค่าจ้าง 10,800 บาท (สำหรับตำแหน่งหัวหน้า รปภ อัตราค่าจ้างใหม่ต่อวันไม่น่าจะต่ำกว่า 500 บาท)

ข.งานรักษาความปลอดภัยต้องดำเนินการสัปดาห์ละ 7 วัน ปีละ 365 วัน ดังนั้นจึงมีต้นทุนค่าจ้างดังนี้
-วันทำงาน 365 วัน คูณ 450 หาร 12 เท่ากับต้นทุนค่าจ้าง 13,687.50 บาท
-วันหยุดนักขัติฤกษ์ 13 วัน – ไม่ทำงานจ่าย 300 บาท (8 ชม.) ต้นทุนค่าจ้างเดือนละ 325 บาท
-วันหยุดพักผ่อนประจำปี 6 วัน วันละ 300 บาท (8 ชม.) หรือเดือนละ 150 บาท

รวมต้นทุนค่าจ้างพนักงาน รปภ/เดือน/คน = 14,162.50 บาท (หมายเหตุ – ไม่นับลาป่วย และสวัสดิการที่จัดให้ฟรี เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ-ไฟ รถรับส่ง ไม่นับค่าจ้างทำงานวันหยุดซึ่งจ่าย 2 เท่า และไม่นับเงินสมทบประกันชีวิตและประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น)

ค.รวมต้นทุนค่าจ้างตรงดังที่กล่าวแล้วเข้ากับต้นทุนค่าการบริหารจัดการและกำไร (ถ้าถึง 5 เปอร์เซ็นต์ถือว่าเยี่ยม!)แล้ว บริษัทรักษาความปลอดภัยควรจะเสนอขายในราคาไม่ต่ำกว่า 17,703.13 บาท / รปภ 1 คน / เดือน ... ปัญหาที่เกิดขึ้นคือจะมีลูกค้ากี่คนที่จะตกลงว่าจ้าง รปภ ในอัตรานี้?

ผลกระทบ

ก.สำหรับบริษัทรักษาความปลอดภัยจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันที่จ่ายค่าจ้างและสวัสดิการให้กับพนักงาน รปภ ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด การเพิ่มค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทย่อมไม่กระทบกับธุรกิจของเขามากนัก

ข.ส่วนบริษัทที่มีความพยายามทำให้ถูกกฎหมายกับลูกค้าผู้ว่าจ้างบริการ (ซึ่งเกือบทั้งหมดคือองค์กรธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบระดับหนึ่งในส่วนตนแล้ว) เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง แนวโน้มจึงเป็นไปได้ว่า …
-จะมีบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มมากขึ้น (จากที่มากอยู่แล้ว)
-บริษัทที่ปฏิบัติตามกฎหมายขยายงานไม่ได้และรักษางานที่มีอยู่ไม่ได้ (เนื่องจากต้องปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นและลูกค้าไม่ “ยินดี” จ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้น!)

ค.ตัวเลขจากการสำรวจของหลายฝ่ายในปี 2552 ประมาณการว่ามีพนักงาน รปภ ในธุรกิจทั้งหมดประมาณ 400,000 คน นับว่ามีส่วนช่วยเหลือการขับเคลื่อนสังคมไม่น้อย

ความคาดหวัง

ดังที่กล่าวตั้งแต่ต้นแล้ว เราเป็นธุรกิจที่ดำเนินไปพร้อม ๆ กันกับผู้มีรายได้ขั้นต่ำ จึงมีความปรารถนาดีต่อพนักงานและยินดีหากเขาได้รับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น และจะน่ายินดีมากขึ้นไปอีกหากผู้ว่าจ้างยินดีจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน เราก็หวังว่าฝ่ายรัฐซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายที่ดีเช่นนี้คงจะมีวิธีการและแนวปฏิบัติที่ช่วยประคับประคองให้นโยบายดี ๆ เช่นนี้ดำเนินไปได้ในแบบที่ทุกฝ่าย (หรือส่วนใหญ่) เดินไปข้างหน้าได้ตามสมควร

นโยบายที่ดีย่อมต้องการวิธีการที่ดีด้วย

จารึก จันทร์สม
บริษัท บางกอก ซีเคียวริตี้ แอนด์ อินเวสติเกชั่น จำกัด โทร : 02 397-0270-1

Wednesday, July 6, 2011

วัฒนธรรม "ลาออก" เพื่อ "รับผิดชอบ"

สองประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนี้1.หลังเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กค 54 ที่ผ่านมา ผลปรากฎว่าพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้แก่พรรคเพื่อไทย ... ดังรู้ดีทั่วไปแล้ว แต่ประเด็นที่ผมเห็นว่าน่าสนใจคือหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดง "ความรับผิดชอบ"

มันอะไรกันนักหนาไอ้ "ความรับผิดชอบ" นี่?? ฮึ?

พูดเฉพาะเรื่องเลือกตั้ง ... ถ้าพื้นดินภาคใต้งอกขยายลงไปในทะเลจนทำให้มีประชากรมากกว่านี้สัก 3 เท่า 5 เท่า แล้วโอกาสประชาธิปัตย์จะชนะการเลือกตั้งคงง่ายขึ้นเยอะ ... แล้วมันเป็นไปได้ไหมล่ะในความเป็นจริง?

ถ้าหัวหน้าพรรคต้องลาออกทุกครั้งเพื่อแสดงความรับผิดชอบเพราะแพ้เลือกตั้ง ... มันจะมีคนมากพอมาเป็นหัวหน้าหรือ?

2.คนตายเกือบร้อย บาดเจ็บกว่าสองพัน ... หัวหน้ารัฐบาลไม่ต้องแสดง "ความรับผิดชอบ"? ถ้าไม่ต้อง แล้วใครต้อง?

ขอให้ชัดเจน ... ไม่ใช้เพราะ "ผิด" จึงต้องรับผิดชอบ "ผิด" นั้นต้อง "รับผิด" แต่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน ให้ประชาชนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ... เมื่อเกิดเหตุอย่างที่รู้กันดีแล้ว ผู้เป็นหัวหน้ารัฐบาลเน้นไปที่ ... ยืนยันว่าตนและคณะไม่ผิด ไม่ผิด ไม่ผิด .... ชุดดำผิด ผิด ผิด ผิด ...

มันคนละเรื่อง!

แต่นั่นแหละ เวลากว่า 1 ปีที่เกิดเหตุการณ์ผู้มีจิตใจเป็น "ปกติ" ย่อมเห็นแล้วว่าหัวหน้ารัฐบาลและคณะนอกจากไม่แสดง "ความรับผิดชอบ" ใด ๆ ไม่ "ทำหน้าที่" ใด ๆ ในการแสวงหาความจริง หรือลงโทษผู้ที่อ้างว่า "กระทำผิด" แต่อย่างใด

ป่วยการเปล่าเพื่อเอ๋ย
แม้แต่ "ความรับผิดชอบ" ยังเป็นแบบ 2 มาตรฐานเลย!